วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ซาลาเปาทับหลี

ซาลาเปาทับหลี

ความเป็นมา

กว่าจะมาเป็นซาลาเปาทับหลี คงมีน้อยคนนักที่ผันตัวเองจากอาชีพ นักออกแบบตบแต่ง มาเป็นเจ้าของกิจการธุรกิจอาหารที่มี ชื่อว่า..ซาลาเปาทับหลี คุณเมวี ศรลัมภ์ อยู่ในสายงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะมาตลอด นับตั้งแต่จบการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ทว่า การทำงานในฐานะ "ลูกจ้าง" บางครั้งก็ประสบปัญหาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เข้ากับผู้ร่วมงานอยู่ไม่น้อย เช่นเดียวกับคุณเมวี ความยากลำบากในการปรับตัว ทำให้คุณเมวีหันมาเปิดกิจการส่วนตัว ถือเป็นปฐมบทของการเป็นนายจ้างแทน แต่ในระยะแรกของการดำเนินกิจการ ซึ่งตรงกับช่วงวิกฤตการณ์ปี 2540 พอดีนั้น ทำให้กิจการของเขาก็ต้องปิดฉากลงพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างที่สุด

กระทั่งปี 2541 คุณเมวีและภรรยา ซึ่งเป็นชาวทับหลี จังหวัดระนอง ได้เกิดแนวคิดที่จะทำซาลาเปาขาย ในช่วงต้น ได้นำซาลาเปาที่ผลิตขึ้นเองตามสูตรของชาวทับหลี ฝากขายตามร้านอาหารทั่วไป โดยแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้กับทางร้าน ลูกละ 6 สลึง แต่ในระยะแรกไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีความผิดพลาดจากการผลิตเกิดขึ้นมาก เช่น ซาลาเปาเสียบ้าง แข็งไปบ้าง เมื่อไปฝากขายร้านค้าต่างๆ ก็ไม่ค่อยสนใจ

แต่คุณเมวีไม่เคยท้อแท้ ซ้ำยังมีแนวความคิดว่า ซาลาเปาเป็นอาหารที่มีราคาถูก ทานง่าย เป็นที่นิยมของผู้บริโภค และยังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมาก หากมีกระบวนการผลิตที่ดี และสามารถสร้างจุดขายให้แก่สินค้าของตนเองได้แล้ว เขาไม่เชื่อว่าธุรกิจของเขาจะไม่ประสบความสำเร็จ ในที่สุด เขาได้เริ่มสร้างตรายี่ห้อหรือตราสินค้าให้กับซาลาเปาของเขาภายใต้ชื่อ "ทับหลี" โดยทำการผลิตด้วยมาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากตัวสินค้าประเภทนี้ เป็นสินค้าที่ขายด้วยตัวของมันเอง การคงคุณภาพสินค้า จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะหากผู้บริโภคผิดหวังตั้งแต่เริ่มแรกที่รับประทานแล้ว โอกาสที่ลูกค้าจะกลับมาซื้อสินค้าอีกครั้งคงเป็นไปได้ยาก คุณเมวีจึงกำหนดให้มีแหล่งผลิตเพียงแหล่งเดียว แล้วค่อยกระจายสินค้าไปยังสาขาหรือจุดขายต่างๆ

สำหรับจุดขายหรือจุดวางจำหน่าย นอกจากการสร้างสาขาเองแล้ว ซาลาเปาทับหลี ยังเป็นที่สนใจของบุคคลภายนอกที่ต้องการเป็นตัวแทนจำหน่าย โดยผู้ที่ต้องการนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย ไม่ต้องเสีย ค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่วางเงินมัดจำค่าสิ่งของจำเป็นบางอย่าง เช่น ธงราว และป้ายสินค้า เป็นต้น ส่วนเรื่องมาตรฐานอื่นๆ ผู้ผลิตซาลาเปาทับหลี เป็นผู้กำหนดและจัดการ เช่น มาตรฐานด้านความสะอาดของร้านต้องเป็นอย่างไร สินค้าที่จำหน่ายไม่หมดก็ต้องมีมาตรการในการควบคุม และตรวจสอบสินค้าคงเหลือโดยตลอด เป็นต้น

ในกรณีที่ผู้รับซาลาเปาทับหลีไปจำหน่าย อาจเป็นกังวลว่าจะมีร้านค้าอื่นๆ ในละแวกเดียวกันรับไปจำหน่ายด้วยนั้น ไม่ต้องวิตกใดๆ เนื่องจากคุณเมวี ได้วางหลักการเกี่ยวกับทำเลการขายไว้ว่า สินค้าของเขาต้องไม่วางอยู่ในจุดขายที่ใกล้กัน เพราะนั่นอาจเป็นการแย่งลูกค้ากันเอง นอกจากนี้ ยังพยายามขจัดความสับสนในกรณีที่ลูกค้าอาจเข้าใจผิดระหว่างตราสินค้าของ ทับหลี กับ ตราสินค้าอื่นๆที่พยายามเลียนแบบ โดยใช้ "ป้ายชื่อตัวอักษรสีขาว บนพื้นสีแดง พร้อมข้อความว่า 'ของแท้เมืองนอง' พร้อมป้ายบอกรางวัลที่ 1"

การปฏิบัติที่ดี

ซาลาเปา…สินค้าที่ตลาดยังต้องการ

มีใครบ้างที่คิดว่า ซาลาเปา จะมีตราสินค้า หรือเพียงแค่เอ่ยประโยคว่า "จะผลิตซาลาเปาขาย"ใครหลายคน ก็อาจคิดว่าจะประสบความสำเร็จได้หรือ? ในเมื่อสินค้าในลักษณะเดียวกันมีวางขายออกทั่วไป เกลื่อนกลาดไปหมด

แต่ในวันนี้มีบทพิสูจน์แล้วจากคุณเมวี ที่ว่า ซาลาเปาทับหลี ในปัจจุบัน (พฤษภาคม 2546) มีสาขาของบริษัทฯ รวม 5 สาขา (บุคคลภายนอก 6 สาขา) และยังมีแนวโน้มที่ผู้สนใจรายอื่นๆ จะขอใช้ตราสินค้าและ นำสินค้าตรา "ทับหลี" ไปวางจำหน่าย เป็นจำนวนมาก

ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกิดจากการมีหลักปฏิบัติที่ดีของคุณเมวี ซึ่งก็คือ การควบคุมการผลิตให้คงคุณภาพที่ดี เนื่องจาก จุดด้อยของสินค้าชนิดนี้ คือ ขั้นตอนการผลิตหรือสูตร มีความละเอียด ต้องผลิตให้ได้ครบถ้วนตามลำดับขั้นตอนที่ถูกต้อง มิฉะนั้นสินค้าหรือซาลาเปาที่ผลิตได้ในแต่ละช่วงเวลา อาจมีรสชาติผิดเพี้ยนไป เช่น แป้งอาจจะแข็งไป เป็นต้น นอกจากนี้ สินค้าที่ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ก็ต้องใช้หลักการควบคุมสินค้าคงคลังควบคู่กับการควบคุมการผลิต เพื่อมิให้เกิดของเสียในปริมาณมาก ซึ่งกระทบต่อต้นทุนของผู้ผลิตและผู้รับไปจำหน่าย

หลักปฏิบัติที่ดีในการควบคุมการผลิต เมื่อนำมาผสมผสานกับการทำตลาด ซึ่งหมายถึง การสร้างแรงจูงใจในการรับสินค้าไปจำหน่าย โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมใดๆ เพียงแค่วางมัดจำในอุปกรณ์บางชนิด และดำเนินการตบแต่งร้านค้าให้โดยไม่คิดมูลค่า นับเป็นแรงดึงดูดอีกทางหนึ่งในการสร้างจุดขาย ผลก็คือ สาขาที่เพิ่มขึ้น และความต้องการรับสินค้าไปขายที่มีมาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

ปัจจัยความสำเร็จ

สินค้าอุปโภคบริโภคธรรมดาๆ แต่สามารถสร้างความแตกต่างขึ้นมาได้


หากในวันนั้น คุณเมวีท้อแท้ นับตั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเปิดกิจการส่วนตัวแล้ว ในวันนี้ก็คงไม่มีซาลาเปา "ทับหลี" ในท้องตลาด อะไรเป็นปัจจัยที่ชี้ชัดถึงความสำเร็จในวันนี้? ปัจจัยที่ว่า ก็คือ ความไม่ย่อท้อ ทุกๆ คน ย่อมมีโอกาสในความสำเร็จและความล้มเหลวได้พอๆ กัน ต่างกันที่จะเลือกทำหรือไม่ทำ เมื่อเลือกทำแล้ว ก็ต้องยอมรับในผลของการกระทำ หากล้มเหลวลง ไม่ควรย่อท้อ ลุกขึ้นสู้แล้วเดินหน้าต่อไป นั่นคือ ประสบการณ์ที่คุณเมวีได้ผ่านมา นอกจากนี้แล้ว ไม่ว่าจะค้าขายสินค้าใด ควรมองหาโอกาสหรือช่องทางการตลาด ดังเช่น "ซาลาเปา" ยังมีช่องทางการตลาด และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอยู่ เมื่อประเมินได้ดังนี้แล้ว หากสามารถสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นระหว่างซาลาเปาที่มากับรถเข็นกับซาลาเปาที่มีตราสินค้า ทำให้สินค้าดูดีมีระดับขึ้นมา ความสำเร็จก็อยู่ใกล้แค่เอื้อม ...อ่านภายในเอกสารต่อคะ

Keyword ซาลาเปาทับหลี ซาลาเปา ขนม


   ดาวน์โหลด : ตัวอย่างกรณีศึกษา ซาลาเปาทับหลี